Articles

BINGO ARTICLES

Harvard MRI Study Shows That Meditation Literally Rebuilds Your Brain’s Gray Matter

คัดลอก แปล และสรุปจาก sciencedaily, washingtonpost, health.harvard ถ่ายทอดต่อโดย มนต์ชัย เทียนทอง

ดร.ซาร่า เลซาร์ (Sara Lazar) นักประสาทวิทยาจากโรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts General Hospital) และวิทยาลัยแพทย์ฮาร์วาร์ด (Harvard Medical School) ได้เริ่มศึกษาการทำสมาธิโดยไม่ตั้งใจ เนื่องจากเธอได้รับบาดเจ็บจากการลงวิ่งแข่งขันในรายการบอสตันมาราธอน ต่อมานักกายภาพบำบัดแนะนำให้เธอทำกายภาพบำบัดเพื่อบรรเทาอาการบาดเจ็บดังกล่าว เธอจึงเริ่มฝึกโยคะ

ต่อมา เธอได้พบว่าการฝึกโยคะของเธอทำให้เกิดความสงบมากขึ้น หลังจากนั้นเธอจึงได้ศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำสมาธิ ทำให้ค้นพบความรู้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่แสดงให้เห็นว่า “การทำสมาธิช่วยลดความเครียด ความซึมเศร้า และลดความวิตกกังวลลงได้ รวมทั้งยังช่วยลดความเจ็บปวดและการนอนไม่หลับด้วย ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น”

เธอจึงเริ่มทำการวิจัยเกี่ยวกับผลของการทำสมาธิอย่างจริงจัง โดยทำการศึกษาเปรียบเทียบ ๒ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ทำสมาธิมาก่อนซึ่งเป็นบุคคลทั่วไป ซึ่งไม่ใช่พระสงฆ์หรือครูสอนสมาธิ ที่เคยทำสมาธิวันละ ๓๐ – ๔๐ นาที ในระยะยาว ๗ - ๙ ปี กับ กลุ่มที่ไม่เคยทำสมาธิมาก่อน

ผลการศึกษาจากการแสกนคลื่นสมองด้วยเครื่อง fMRI ทั้งสองกลุ่ม พบว่า กลุ่มที่ทำสมาธิมาก่อนมีสารสีเทาในสมองโดยเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีผลต่อส่วนของประสาทการได้ยินและเยื่อหุ้มสมองส่วนนอก รวมถึงประสาทสัมผัสอีกด้วย

โดยที่เนื้อเยื่อสมองของมนุษย์จะประกอบไปด้วย ๒ ส่วนหลัก ได้แก่ สมองเนื้อสีเทา (Gray matter) และสมองเนื้อสีขาว (White matter) สมองเนื้อสีเทาเป็นเนื้อเยื่อสมองส่วนนอก ประกอบด้วยเซลล์ประสาท เดนไดรต์ แอกซอน เซลล์ค้ำจุนระบบประสาท และหลอดเลือดฝอย มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อและการให้ความรู้สึก รวมทั้งประสาทสัมผัส ความนึกคิด ความจำ การเห็น การพูด และการได้ยิน ส่วนสมองเนื้อสีขาวเป็นเนื้อเยื่อสมองส่วนใน เป็นเนื้อเยื่อที่ไม่มีเซลล์ประสาท มีแต่เซลล์ค้ำจุนระบบประสาทและแอกซอน ทำหน้าที่หลักในการช่วยส่งสัญญาณ/กระแสประสาทที่ออกจากเซลล์ประสาทบริเวณของสมองเนื้อสีเทา ซึ่งเนื้อเยื่อสมองทั้ง ๒ ส่วนจะต้องทำงานสัมพันธ์กัน เพื่อให้การทำงานของสมองโดยรวมเป็นไปอย่างราบรื่น

ผลจากการสแกนคลื่นสมองของ ดร.ซาร่า ในครั้งนั้น พบว่า กลุ่มผู้ที่เคยทำสมาธิมาก่อน ในสมองมีสารสีเทาเพิ่มมากขึ้น ส่วนนี้จะเชื่อมโยงกับการตัดสินใจและความจำในการทำงานของเยื่อหุ้มสมองส่วนหน้า แสดงให้เห็นว่าการทำสมาธิ สามารถทำให้สมองเกิดการปรับโครงสร้างได้ นอกจากนี้ยังพบหลักฐานที่แสดงว่าการทำสมาธิ มีผลทำให้สมองเสื่อมช้าลงในบางส่วนของพื้นที่สมอง

โดยธรรมชาตินั้น ผู้คนส่วนใหญ่เยื่อหุ้มสมองจะหดตัวเมื่ออายุมากขึ้น ๆ แต่ผู้ที่ทำสมาธิระยะยาวที่มีอายุ ๕๐ ปี กลับมีสารสีเทาในปริมาณเท่ากับครึ่งหนึ่งของอายุ นั่นหมายถึงว่า “ผู้ที่ทำสมาธิที่มีอายุ ๕๐ ปี กลับมีสมองดั่งคนที่มีอายุเพียง ๒๕ ปี เท่านั้นเอง”

นี่คือประโยชน์ของการทำสมาธิจากการค้นพบและพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ เป็นหลักฐานยืนยันว่า การทำสมาธิทำให้มีชีวิตยืนยาวขึ้น เพราะสมองเสื่อมช้าลงนั่นเอง ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้พระเถรานุเถระที่ผ่านการเจริญสมาธิมาอย่างยาวนาน มีชีวิตยืนยาว มีความจำเป็นเลิศ มีความปราดเปรื่อง และมีปฏิภาณไหวพริบที่เหนือกว่าปุถุชนทั่วไปนั่นเอง